ประวัติความเป็นมา
ประวัติความเป็นมา
30 พฤศจิกายน 542

0


ประวัติความเป็นมา
 
 ที่มาของชื่อ "ตำบลลิพัง" นั้น ตามคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า  เริ่มขื้นในสมัยที่ประเทศสยาม ทำสงครามกับรัฐมาลายู (ประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียปัจจุบัน)   ดังจะกล่าวสรุปต่อไปนี้ 
 
           ในสมัยที่สยามทำสงครามกับรัฐมลายู  โดยเรียกว่าสงครามคูค่าย  มีทหารกลุ่มหนึ่งของชาวมลายูแตกทัพหนีสงครามมาถึงหุบเขาแห่งหนึ่ง โดยการนำของหัวหน้ากลุ่มซึ่งเป็นผู้อาวุโสที่เคร่งทางด้านสัจธรรมอิสลาม ชาวมาลายูที่หนีสงครามมาด้วยกันเรียกเขาว่า"โต๊ะละใบ" แต่ในประเทศสยาม เรียกสั้นๆ ว่า โต๊ะใบ หรือ โต๊ะเฉย ๆ ก็มี ท่านผู้นี้เป็นนายทหารกองช้างสมัยนั้น ไม่มีผู้ใดทราบชื่อจริงของท่านเลย ทั้งหมดเข้ามาซ่อนตัวอยู่ในป่าดงดิบที่เต็มไปด้วยขุนเขาโอบล้อม
           โดยครั้งแรกท่านได้ยึดเอาภูเขาลูกเล็ก ๆ ที่มีถ้ำอยู่ด้วย อาศัยหลบแดดหลบฝน ปฏิบัติภารกิจทางศาสนาอิสลาม เป็นกิจวัตรประจำวันในนั้นตลอดมา ถ้ำลูกนี้อยู่ใกล้กับลำคลองสายหนึ่งที่เต็มไปด้วยต้นลำพัง ปัจจุบันเรียกว่าคลองพัง โดยขณะที่หลบหนีมาซ่อนอยู่ที่ดังกล่าว โต๊ะละใบได้เอาช้างพังมาด้วยเชือกหนึ่ง ช้างเชือกนี้มีชื่อตามภาษามาลายูว่า "มาลีพัง" แปลเป็นภาษาไทยได้ความว่า "แม่นางขุมทรัพย์" ตามคำบอกเล่ากล่าวไว้ว่าในตัวของช้างเชือกนี้ ได้ฝังเพชร,พลอย,ทองคำ ไว้ตามส่วนต่างๆของร่างกายจึงได้ชื่อว่ามาลีพังหรือ"แม่นางขุมทรัพย์"
           ต่อมาพวกเขาเหล่านั้น ก็ได้ตั้งรกรากสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยใกล้ ๆ บริเวณภูเขาลูกดังกล่าว โดยเริ่มทางทิศใต้ของภูเขา มีชื่อเรียกว่า บ้านโหละ ส่วนถ้ำที่เป็นจุดแรกที่เข้ามาพักนั้นเรียกว่า ถ้ำโต๊ะพังโดยให้ชื่อตามผู้อาวุโสที่นำผู้คนและช้างพังมาอยู่เป็นครั้งแรก  เมื่อทั้งหมดได้ทำการสร้างบ้านเรือนอยู่กันมาชั่วระยะหนึ่ง ท่านผู้เฒ่าเจ้าของช้างก็ได้ถึงแก่กรรมลง เขาก็จัดการตามประเพณีของศาสนาอิสลาม ลูกหลานของท่านเรียกท่านว่า ทวดโต๊ะพัง ในฐานะที่ท่านเป็นคนแรกซึ่งได้นำผู้คนมาตั้งบ้านแห่งนี้ ส่วนช้างมาลีพังมีทายาทของท่านเป็นผู้รับผิดชอบเลี้ยงดูสืบแทนท่านต่อไป  โดยที่พวกเขาเหล่านั้นไม่ทราบว่าภายในร่างของช้างเชือกนั้นมีสิ่งมีค่ามหาศาลฝังอยู่ 
           ต่อมาหลังจากสงครามสงบลง  ทางรัฐมลายูได้รวบรวมกองกำลังช้าง-ม้า ปรากฏว่าช้างพังเชือกหนึ่งซึ่งมีค่าสูงมากได้สูญหายไปรวมทั้งเหล่าทหารในกองทัพจำนวนหนึ่งด้วย ดังนั้นทางรัฐมาลายูโดยผู้บัญชาการเหล่าทัพ  ได้ส่งกองทหารซึ่งพลางตัวเป็นชาวบ้านสืบหาช้างเชือกนั้นเป็นเวลานานนับปี  ในที่สุดก็ได้รับทราบข่าวว่า ช้างเชือกดังกล่าวอยู่ที่หุบเขากลางป่าดงดิบแห่งหนึ่ง
           ทางรัฐมาลายูจึงได้ส่งทหารจำนวนหนึ่งมารับช้างเชือกดังกล่าวกลับไปรัฐมาลายู  โดยสั่งการว่าหากเอากลับไม่ได้ ก็ให้ฆ่าช้างเชือกนั้นเสีย แล้วให้เอาทรัพย์สินที่ฝังอยู่ในช้างกลับให้หมด แต่ห้ามทำลายล้างผู้คนอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะกลับประเทศด้วยหรือไม่ เมื่อทหารได้รับคำสั่ง ก็ออกเดินทางมายังหุบเขาดังกล่าว  และได้ทำการเจรจากับกลุ่มที่ดูแลช้างอยู่ขณะนั้น กลุ่มผู้ดูแลช้างคืนช้างให้ แต่ช้างเชือกนั้นไม่ยอมกลับไปกับพวกที่มารับ มีอาการแสดงออกต่าง ๆ ว่ามันจะอยู่ร่วมแผ่นดินกับโต๊ะละใบที่นำมันมา และอาละวาดกับทุกคนที่มารับกลับ  ในที่สุดมันก็สู้ไม่ได้จึงหนีเข้าไปซุ่มตัวอยู่ในถ้ำเขาติงใกล้ ๆ กับที่ตั้งทวดโต๊ะพังในปัจจุบัน  เมื่อช้างมาลีพังหรือแม่นางขุมทรัพย์หมดหนทางหนีอีกแล้ว มันจึงถูกฆ่าตายในถ้ำเขาติง
           เมื่อช้างมาลีพังตายลงแล้ว มันจึงถูกทหารของรัฐมาลายูตัดออกเป็นสองท่อน คือท่อนหัวและท่อนหาง แต่ละท่อนถูกเชือดเป็นหลาย ๆ ส่วน และนำทองคำ,พลอย,เพชรที่ฝังอยู่ในตัวช้าง นำกลับรัฐมาลายูไป เหลืออยู่แต่ซากช้างทั้งสองท่อนตั้งอยู่ในถ้ำเขาติงซื่งตั้งแยกห่างจากกัน  เวลาผ่านไปหลายปี ซากของช้างก็กลายเป็นหิน  ตรงท่อนหัวของช้างชาวบ้านเรียกง่อนหินนั้นว่า"หินหัวช้าง" ห่างออกไปมีง่อนหินอีกอันหนึ่งเป็นจุดท่อนหางของช้างตั้งอยู่ ชาวบ้านเรียกว่า  "หินท้ายช้าง"  ง่อนหินที่ชาวบ้านเรียกว่า "หัวช้างและท้ายช้าง"  สมัยก่อน ๆ มีความศักดิ์สิทธิ์มาก ตามคำบอกเล่ากล่าวกันว่า ถ้าหากผู้ใดเอาไม้หรือก้อนหินไปเคาะหัวช้างฝนจะตกลงมา หากฝนตกมากเกินทำให้น้ำท่วมบ้านเรือนก็ให้เอาไม้หรือหินไปเคาะที่ท้ายช้างฝนก็จะหยุดตกไปเลย ในปัจจุบันความศักดิ์สิทธิ์ของง่อนหินดังกล่าวไม่ได้รับการกล่าวขานอีกต่อไปแล้ว  เหลืออยู่แต่ง่อนหินหัวช้างและหินท้ายช้างเท่านั้น
           หลังจากนั้นมาคนเกิดเพิ่มและคนภายนอกเข้ามาตั้งรกรากเพิ่มมากขึ้นจนกระทั่งยกฐานะเป็นหมู่บ้าน และผู้คนเพิ่มมากขึ้นจนกระทั่งได้แยกเป็น 2-3 หมู่บ้าน จึงมีฐานะเป็นตำบล จึงให้ชื่อตำบลมาจากชื่อช้างพังที่มีชื่อว่า "มาลีพัง" (แม่นางขุมทรัพย์) และแผลงมาเป็นชื่อตำบลลิพัง ตราบจนปัจจุบันนี้
           สรุป ตำบลลิพัง  มาจากช้างพังเชือกหนึ่ง  ฉะนั้นชาวตำบลลิพัง จึงตั้งตราประจำตำบลลิพังเป็นรูปช้าง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของตำบลลิพังสืบไป